“คนเรานั้นมาจากธรรมชาติ เมื่อตายไปก็กลับคืนสู่ธรรมชาติ” ฉะนั้นหากมองอย่างลุ่มลึกแล้วแง่งามของชีวิตก็คือความธรรมดา อีกนัยที่แสนธรรมดานั้นย่อมบ่งบอกถึงความสมบูรณ์แบบ มากกว่ายึดติดกับความเจริญทางวัตถุแม้สวยงามแต่ฉาบฉวย กระนั้นเองจากวิถีชีวิตคนเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หลายคนจึงถวิลหาวิถีดั่งเดิมและเริ่มหันหลังกลับไปหาความธรรมดาของชีวิตอีกครั้ง ไม่ต่างจากคุณอาร์ต หม่อมหลวงอภิชิต วุฒิชัย ผู้ก่อตั้ง Dot Dot Dot Limited Partnership ที่หลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดีในนามบริษัทแบรนดิ้งครบวงจร ชายหนุ่มเลือกออกแบบชีวิตตามที่เขาต้องการจะเป็น จนนำไปสู่ความพอที่ให้กับตัวเอง และพร้อมที่จะให้กับสังคม
เป็นความรู้สึกดีต่อใจอีกครั้งค่ะที่ผู้เขียนได้เดินทางมาเยือนบ้านอาทิตย์ – ธารา บ้านพักที่ห้อมล้อมไปด้วยบริบทของธรรมชาติทุกบริบทล้วนมาจากความเป็นธรรมชาติที่มีเสน่ห์ในตัวเอง จากความสุขในความธรรมดาที่ฉันได้รับกลับไปในคราก่อน มันทำให้ทำหัวใจฉันพองโตอีกครั้งเมื่อคุณอาร์ตได้นัดแนะผ่านคุณกบ อาภาศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภรรยาคนสวยให้มาพบกัน ณ สถานที่แห่งนี้อีกครั้ง โดยที่ฉันเองก็ตบปากรับคำเชิญนี้โดยไม่ลังเล ทั้งสองท่านออกมาต้อนรับเราในชุดลำลองแสนสบาย ก่อนที่จะทักทายพวกเราด้วยรอยยิ้มที่เป็นกันเอง
หากไม่นับสถานที่ที่เรียกว่าบ้านแล้ว จะมีสักกี่แห่งที่ให้เราเดินเท้าเปล่าได้อย่างสบายใจ บ้านอาทิตย์ – ธารา กลับทำให้ฉันรู้สึกเช่นนั้นค่ะ ส่วนหนึ่งคงมาจากมิตรไมตรีจิตรของคุณอาร์ตและคุณกบที่ใครหลายคนได้มีโอกาสมาเยือนคงรู้สึกและรับรู้ได้ เรานั่งพูดคุยกันที่ชานบ้านขันติ บ้านริมน้ำสองชั้นที่ผู้เป็นเจ้าของอาศัยอยู่ ก่อนที่คุณอาร์ตจะเล่าย้อนกลับไปถึงเรื่องราวเมื่อ 15 ปีก่อนให้ฟังว่า “เพราะเริ่มเบื่อชีวิตในเมืองใหญ่ที่ถูกครอบงำด้วยความวุ่นวาย เบื่อการพบพานผู้คนที่ไม่เป็นมิตร จึงเกิดความคิดขึ้นในหัวของเราว่า “พอแหละ” กับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียดและการแข่งขัน ตอนนั้นก็เริ่มคิดที่จะหันหลังกลับเข้าสู่ธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่ายและเป็นตัวเองมากที่สุด”
คุณอาร์ตเล่าต่อด้วยสีหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขว่า “คงมีไม่กี่คนที่จะมีโอกาสมานั่งรับอากาศที่บริสุทธิ์ทุกอาทิตย์ เครียดมาก็ออกไปขับเรือเล่นไปดูพระอาทิตย์ตก เราอยู่ตรงนี้แล้วมีความสุข ก็เลยคิดที่จะแบ่งปันความสุขเหล่านี้ให้กับคนอื่นที่หลงใหลและรักธรรมชาติเช่นเรา คนที่ต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวาย จากสิ่งเสแสร้งปรุงแต่ง ให้พวกเขาได้เข้าถึงการให้โดยการซึมซับ ได้สัมผัสในน้ำใจความโอบอ้อมอารี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทยอย่างช้าๆ”
วิถีชีวิตที่เรียบง่ายที่กล่าวถึงนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างไร คุณอาร์ตเล่าต่อว่า “ใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นประโยคที่ได้ยินมานาน เป็นสิ่งที่ในวันนี้เราต่างเริ่มสำนึกกันแล้วว่าสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่คนไทยทั้งชาติ ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง จากที่ผมไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ว่าคือกสิกรรมธรรมชาติ หรือเป็นเกษตรกรรม ทุกบ้านจำเป็นต้องมีโคก ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกข้าวเอง
เราก็ยังไม่เข้าใจจนได้ศึกษาในเชิงลึกทั้งปรัชญา ทฤษฎี และเชิงปฏิบัติ ก็มองว่าสิ่งที่ได้คิดไปข้างต้นนั้นไม่ใช่ เพราะทุกคนมีความพอไม่กัน เราพอแล้วเท่านี้ หมายความว่าไม่ไปไขว่คว้าในสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือเห็นเงินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยู่ที่นี่รู้สึกหลงรักในตลาด มองไปทางไหนของที่เราจับจ่ายราคาเพียงถุงละ 20 บาท สามารถรับประทานได้ถึง 3 มื้อ คือในบริบทที่เรามาจากในเมือง ก็อดที่จะเปรียบเทียบในเรื่องของราคาถูกแพงไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือน้ำจิตน้ำใจ ความโอบอ้อมอารี ที่เราได้รับต่างหาก” เมื่อประโยคนี้จบลง อาหารง่ายๆ อย่างคะน้าผักน้ำปลาก็ส่งกลิ่นโชยมาแตะปลายจมูก สูตรที่คุณอาร์ตคิดขึ้นมาวางอยู่ตรงหน้า จนฉันเองก็อดใจไม่ไหวที่จะลองลิ้มชิมรส
คุณอาร์ตเริ่มเล่าต่อว่า “ผมกับคุณกบคุยกับแขกทุกคนตลอด มาถึงก็นั่งกันง่ายๆ ไม่คิดว่าที่นี่เป็นรีสอร์ต พอเรานำเอาบริบทตรงนี้เข้ามาปฏิบัติมากขึ้น ทุกคนก็จะเริ่มซึมซับเข้าไปเองเรื่องความพอเพียง เรามีโอกาสได้ศึกษาติดตามผลงานของผู้ที่ดำเนินตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ยิ่งเราเรียนรู้มากเท่าไร ก็ยิ่งสัมผัสถึงสิ่งที่พระองค์ท่านทิ้งไว้อย่างมหาศาล จนได้รับการกล่าวขานยกย่องไปทั่วโลก ทั้งนี้ในเรื่องความพอเพียงนั้นเราไม่สามารถไปควบคุมผู้อื่นได้ แต่ตัวเราสามารถควบคุมได้ ผมจึงต่อยอดในสิ่งที่อยู่ในความคิดและออกแบบสิ่งนั้นขึ้นมา”
ภายใต้หลักคิด หลักความพอดี และการเรียนรู้ตลอดเวลาของชายหนุ่ม หากผ่านบ้านอาทิตย์ – ธารา ไปอีกสองคุ้งน้ำ คุณอาร์ตกำลังลงมือสร้างบ้านสวรรคโลกขึ้น ด้วยคอนเซ็ปต์ของการให้ สอดรับกับหลักคิดของบรรพชน “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประโยคนี้ที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกยุคสุโขทัย
เขายังพร้อมแบ่งปันความสุขที่เกิดจากความพอเพียงนี้ไปสู่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง ส่งต่อไปถึงสังคม “เราสร้างโมเดลเล็กๆ ขึ้นเพื่อขยายความรู้ว่าการอยู่อย่างธรรมดา นี่แหละมันคือความหรูหรา ความสะดวกสบายที่สุดแล้ว ไม่ต้องแสแสร้ง ถอดรองเท้าเดินได้ แหงนหน้ามองท้องฟ้า นอนกลิ้งดูดพลังบริสุทธิ์ เมื่อใดก็ตามที่เรารู้จักพอเมื่อนั่นเราก็รวยในใจ” คุณอาร์ตเล่าพรางยิ้ม ในหัวใจเขาคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขเช่นเดียวกับคนฟัง
การมาเยือนบ้านทิตย์ – ธารา ครานี้ ฉันรู้สึกอิ่มเอมใจเหลือเกิน ก่อนเดินทางกลับคุณอาร์ตได้พาเราล่องเรือไปตามสายน้ำบางประกง ก่อนจะหยุดอยู่ที่ปากน้ำโยธะกา เบื้องหน้า ณ ห้วงยามนั้นท้องฟ้าทอแสงสีชมพูอมม่วงเป็นริ้วๆ พระอาทิตย์ดวงกลมโตที่กำลังเคลื่อนต่ำลาลับขอบฟ้า กอปรกับเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ ที่บรรเลงขึ้นช้าๆ นี่กระมังที่เรียกว่าวิถีชีวิตเรียบง่าย แต่ร่ำรวย หรูหรา ภายใน ที่คุณอาร์ตมักพูดขึ้นเสมอในบทสนทนาว่า “อยู่แบบธรรมดาคือความลักซัวรี่ที่สุด” ฉันเองก็คิดเช่นนั้นค่ะ