Light cave house สร้าง “สภาวะน่าสบาย” ให้บ้าน ผ่านจุดยืนด้านนิเวศน์สถาปัตย์ สอดคล้องกับสภาพอากาศร้อนชื้น

0


ถ้ำที่มีแสง มองไปทางไหนก็เห็นต้นไม้


บ้านโมเดิร์นทรงกล่องสีขาว ดูโดดเด่นและดึงดูดด้วยงานดีไซน์ที่สร้างเอกลักษณ์ ผ่านจุดยืนด้านนิเวศน์สถาปัตย์ ด้วยการออกแบบอาคารได้อย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ จนเกิดสภาวะน่าสบายแก่ผู้อาศัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เวลาอยู่บ้าน หันไปทางไหนก็อยากเห็นต้นไม้” ตามความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งก็เข้าทางความถนัดของสถาปนิกจาก MAKE It POP ที่เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ สานต่อโจทย์ดังกล่าวจนแล้วเสร็จ สู่ Light cave house บ้านที่แสงธรรมชาติส่องผ่านอย่างทั่วถึง

จากจุดยืนของสถาปนิกที่มีเสมอมา นั่นคือ “สภาวะน่าสบาย” ของผู้อาศัย ฉะนั้นการออกแบบที่สอดคล้องกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย โดยเฉพาะการจัดการความร้อนและการระบายอากาศ จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องคำนึง เริ่มจากสิ่งที่เบสิกที่สุด คือทิศทางการวางอาคาร

สถาปนิกเล่าว่า “บ้านหลังนี้หน้าบ้านหันทิศตะวันออก ทำให้การจัดวางห้องต่างๆ จึงเป็นไปตามเวลาใช้งานที่เหมาะสมกับสภาพแสงในแต่ละช่วงของวัน ฝั่งทิศตะวันตกแม้แดดจะร้อนตลอดวัน แต่ก็เป็นทิศที่ได้รับลมดีเช่นกัน เราจึงได้ดีไซน์พื้นที่คอร์ดทะลุถึงชั้น 3 ทำให้เกิด Stack Ventilation หรือลมระบายอากาศที่พาความร้อนจากในตัวบ้านขึ้นสู่ด้านบน กรองแดดร้อนด้วยต้นไม้และระแนง ขณะที่รอบตัวบ้านเน้นการออกแบบที่เรียกว่า Double Skin คือการทำผนังสองชั้น ชั้นนอกคือบล็อกช่องลมเพื่อกรองแสงที่จะเข้ามายังอาคาร แต่ยังสามารถระบายอากาศให้ลมผ่านได้  ชั้น 2 เลือกเป็นบานหน้าต่างที่สามารถเปิด/ปิด ได้ตามการใช้งาน” 


ขณะเดียวกันเปลือกภายนอกของภายอาคาร ก็ได้รับการสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเพิ่มลูกเล่นโชว์ให้เห็นแพทเทิร์นของอิฐบล็อกช่องลม ผสานเข้ากับเส้นสายความโค้งเว้าของผนังอาคาร สร้างมิติเพิ่มความละมุนตาไม่น้อย ซึ่งก็ไม่เพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น สถาปนิกเริ่มเล่าต่อว่า “เน้นออกแบบเปลือกอาคารให้สามารถลดการส่งผ่านความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ด้านใน โดยได้วิเคราะห์ทิศทางแสงแดด ลม โดยเฉพาะแดด ที่ได้มีการจำลองสถานการณ์ด้วยโปรแกรม Simulation เพื่อวิเคราะห์การวางแผงบังแดดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”


หากมองภาพรวมของบ้านหลังนี้ จะเห็นว่าไม่มีหน้าต่างบานไหนเลยที่รับแดดจ้า โดยไม่มีการบังเงาที่ครอบคลุม อย่างการ ใช้บล็อกช่องลม หรือระเบียงก็ตาม หน้าต่างทุกบานจะต้องเปิดเห็นวิวได้โดยไม่ร้อน ม่านเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อให้เกิด Privacy เท่านั้น ไม่ได้มีไว้ใช้บังแดด เพราะความร้อนเข้าสู่อาคารแล้วจึงผ่านม่านอีกขั้น ส่วนเส้นสายความโค้งเว้าเป็นสไตล์ที่สถาปนิกเติมเข้าไปเพื่อลดทอนความหนาตันของ Mass อาคารที่สูง 3 ชั้น และผังแทบเป็นจตุรัส


ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ดินเพียง 12 x 14 เมตร และเป็นบ้านที่อาศัยอยู่ถึง 3 Generation ทำให้การวางฟังก์ชันภายในบ้านค่อนข้างที่จะแน่น เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่ามากที่สุด เริ่มจากบริเวณชั้น 1 โดดเด่นด้วยดีไซน์ที่โชว์ให้เห็นกรอบโค้งเว้า ชวนดึงดูดสายตาตั้งแต่แรกเห็น สถาปนิกเล่าว่า “เนื่องจากเป็นบริเวณที่เปิดประตูเข้ามาจะพบเป็นส่วนแรก และเราจิตนาการว่าจะเห็นคุณยาย และคุณแม่ กำลังทำอาหารในครัว ต้อนรับการกลับบ้านของสมาชิกเสมอ จึงออกแบบเส้นโค้งนำสายตาไปสู่ห้องครัว ที่เป็นหัวใจหลักของการมีปฏิสัมพันธ์ของคนในบ้าน”


ส่วนนี้จึงเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลาง ที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมด เพื่อรองรับกิจกรรมของครอบครัว และยังเป็นพื้นที่หลักของคุณยาย ที่ชื่นชอบการประกอบอาหาร และยังสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มองเห็นหลานสาวตัวน้อยนั่งเล่นไปพร้อมกัน

สถาปนิกได้ออกแบบส่วนนี้ให้เป็นดั่งมุมพักผ่อน ที่เป็นทั้งพื้นที่นั่งเล่น รับแขก และวางของเล่นหลานไปด้วย ถัดมาเป็นส่วนรับประทานอาหาร ที่เชื่อมโยงเข้ากับส่วนครัว พื้นที่ของคุณแม่และคุณยาย ทำอาหารหนักกันจริงจัง แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัด ที่ไม่สามารถแยกครัวไทย ครัวฝรั่งได้ จึงต้องออกแบบให้ครัวมีความสวยงามด้วย และมีหน้าบานประตูกั้นเมื่อต้องการทำอาหารไทย พร้อมกันนี้ยังได้ออกแบบคอร์ดปลูกต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งก็เป็นพื้นที่ให้หลานสาวได้เล่นสนุกเช่นกัน แทรกด้วยฟังก์ชันห้องนอนผู้สูงอายุ 2 ห้อง คือห้องคุณยาย และห้องนอนสำหรับคุณย่ามาเยี่ยมเยือน


ขึ้นสู่พื้นที่ชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอนใหญ่ที่มีห้องน้ำในตัว ห้องนอนลูกสาว และห้องดูทีวี ผู้เป็นเจ้าของได้ให้โจทย์กับสถาปนิกตั้งแต่แรกเริ่มว่า อยากได้ห้องนอนที่หันไปทางไหนก็เห็นต้นไม้”

การออกแบบจึงมีกิมมิก ด้วยการเว้นพื้นที่ปลูกต้นไม้ระหว่างห้องนอนและห้องน้ำ เน้นไม้ใบปลูกในร่มและชื้น เช่น มอนสเตอร่า เฟิร์น พลู และคล้าต่างๆ พร้อมกั้นด้วยผนังกระจก ที่ช่วยแบ่งพื้นที่ให้ภายในห้องดูเป็นสัดส่วนขึ้น


ในส่วนชั้น 3 จัดสรรเป็นพื้นที่เพื่องานอดิเรก หรือทำกิจกรรมของครอบครัว เนื่องจากที่ดินจำกัด สถาปนิกจึงจัดสรรให้มีลานโล่งอเนกประสงค์ ที่สามารถวางสระน้ำเป่าลมให้เด็กเล่น หรือจัดปาร์ตี้เล็กๆ ได้ และยังเผื่อพื้นที่ไว้ให้สามารถกั้นห้องได้ หากมีความต้องการในอนาคต


สำหรับไฮไลท์ของบ้านหลังนี้คือส่วน Semi Outdoor คอร์ดบนชั้น 2 พร้อมเปลตาข่ายนั่งเล่น ที่สามารถมองทะลุถึงชั้นล่าง สร้างความปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้าน และต้นไม้ ได้อย่างลงตัว สถาปนิกเล่าเพิ่มเติมว่า “คนส่วนใหญ่เคยชินกับการที่บ้านเป็นพื้นที่ปิดทั้งหมด บ้านจึงถูกแบ่งเป็นแค่พื้นที่ปิด (Indoor) กับพื้นที่นอกบ้านที่เปิดโล่ง (Outdoor) เมื่อออกแบบให้มีพื้นที่ Semi Outdoor ก็มักกังวลว่าฝนจะสาดเข้ามามั้ย? จะมียุง? หรือฝุ่นหรือป่าว? ความกังวลนี้ทำให้หลายๆ บ้านเลือกที่จะสร้างบ้านที่มีแต่พื้นที่ปิด อาศัยการเปิดแอร์ เปิดไฟ เพียงอย่างเดียว”

“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่ Semi Outdoor นี้ ทำหน้าที่เหมือนระเบียง ซึ่งเราไม่ได้ใช้งานพื้นที่ระเบียงเป็นหลัก ดังนั้นจะมียุง มีฝุ่น ละอองฝนได้บ้าง แลกมากับลมที่พัดผ่านได้เป็นอย่างดี และแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านอย่างทั่วถึง เอื้อให้เกิดสภาวะน่าสบาย ซึ่งประกอบด้วย ความเร็วลมที่เหมาะสม ความชื้นสัมพันธ์ อุณหภูมิอากาศ และอุณหภูมิผิวเฉลี่ย”


ดังนั้นการออกแบบจัดวาง พื้นที่ Semi Outdoor สถาปนิกจึงวางให้เป็นฟังก์ชันที่ไมได้ใช้งานหลัก เช่น ทางเดิน ส่วนนั่งเล่นรับลม หรือสวนก็ตาม ส่วนห้องที่ต้องใช้งานหลักๆ อย่างเช่นห้องนอน ห้องทานข้าว ซึ่งเรามักจะใช้เวลาอยู่นาน จึงถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ปิด ที่สามารถเปิดแอร์ ติดมุ้งลวดกันยุงได้

สถาปนิกเล่าต่อว่า “บ้านหลังนี้เราออกแบบให้พื้นที่ Semi Outdoor เข้ามาอยู่กลางบ้าน ทะลุจากชั้น 1 ถึง ชั้น 3 ออกแบบให้เป็นเหมือนระเบียงทางเดิน ที่มีส่วนนั่งเล่นรับลม มีต้นไม้ทะลุขึ้นมาจากชั้น 1 โดยชั้น 2 การใช้งานจะเป็นการเดินผ่านจากโถงบันไดไปยังห้องนอน หรือนั่งเล่นรับลมในช่วงเวลาเย็น โดยวางพื้นที่นี้ไว้ฝั่งทิศเหนือ คำนึงถึงทิศทางลมประจำฤดู เช่น วางให้มีบานเลื่อนตรงบล็อกช่องลมหน้าบ้าน หากเปิดบานเลื่อนไว้ก็จะมีลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และลมทิศใต้ จากหน้าต่างตรงโถงบันไดพัดผ่านทะลุเข้ามาทำให้บ้านเย็นสบาย”


ทั้งนี้สถาปนิกก็ยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “ลมจะสามารถพัดผ่านทะลุอย่างทั่วถึงได้ ถ้ามีทางให้ลมเข้าและออกได้ หากไม่ได้วางทางให้ลมออก จะเปิดช่องรับลมใหญ่แค่ไหน ลมก็ไม่ทะลุเข้ามาถึงด้านใน ประกอบกับส่วนนี้ ด้านบนมุงหลังคาโปร่งแสง จึงทำให้มีแสงธรรมชาติส่องทั่วถึงทั้งบ้าน ในด้านคอนเซ็ปต์การออกแบบ ที่ต้องการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของคนในบ้าน พื้นที่ต้องนี้ก็ตอบรับได้เป็นอย่างดี”


“จะเห็นว่าส่วนนี้เจาะพื้นที่เปลตาข่ายนั่งเล่น ทำให้คุณยายและคุณแม่ที่กำลังทำครัวอยู่ชั้น 1 มองเห็นลูกสาวนอนเล่นอยู่ระเบียงชั้น 2 ได้ ในขณะที่คุณพ่อซึ่งกำลังทำงานอดิเรกอยู่ในห้อง Workshop ชั้น 3 ก็สามารถมองเห็นลูกสาวได้เช่นกัน ถ้าไม่ได้ใช้งานก็จะมีเบาะและผ้าใบปิดเพื่อกันลม ฝน และฝุ่น เพราะบ้านไม่จำเป็นต้องสร้างกำแพงครอบไปหมด แล้วติดแอร์ทั้งหลัง มีพื้นที่ว่างให้บ้านหายใจบ้างก็จะรู้สึกปลอดโปร่งขึ้นมาก”

 


Light cave house ต้องบอกว่าเป็นความสุขของสถาปนิกเลยก็ว่าได้ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่ถนัด โดยนำความรู้จากการเรียนด้านนิเวศน์สถาปัตย์มาต่อยอดใส่ในงานออกแบบอย่างจัดเต็ม สถาปนิกได้ทิ้งท้ายว่า “คนสำคัญที่ต้องขอบคุณ และขอยกเครดิตให้ทั้งหมดคือ เจ้าของบ้าน ที่มีทัศนคติตรงกัน ไว้ใจ เข้าใจในจุดยืนของผู้ออกแบบ และเชื่อใน สภาวะน่าสบาย เช่นเดียวกัน” จนมาลงตัวกับ บ้านที่มีเหลี่ยมมุม เส้นสาย ที่ดูคล้ายปากถ้ำ แต่ว่าในบ้านกลับมีความโปร่ง มีแสงธรรมชาติส่องผ่าน มีลมระบายอย่างทั่วถึง พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในบ้านไม่รู้สึกแยกจากกัน เพราะการออกแบบภายใต้จุดยืนของสถาปนิกที่มีมาเสมอนั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลจากสถาปนิก MAKE It POP คุณใยชมภู นาคประสิทธ์ และคุณคมน์พฐ นิ่มนวล

Project : Light Cave House

Location : Samutprakarn Thailand

Owner : Khun Jo/Khun Mate

Constractor : SUBAN CC

Photography : FANGBakii

Architect and Interior Design

ออกแบบ สถาปัตยกรรม และ ออกแบบตกแต่งภายใน MAKE It POP Co.,Ltd.