รีโนเวททาวน์เฮ้าส์หน้าแคบ อายุ 30 กว่าปี สู่ “บ้านประชาชื่น” ตอบโจทย์การใช้งานของครอบครัวที่กำลังขยาย

0


Baan Prachachuen เปลี่ยนทาวน์เฮ้าส์หลังเก่า

เป็นทั้งบ้านและสตูดิโอออกแบบ Rakchai Architects


จากทาวน์เฮ้าส์หลังเก่าที่มีอายุ 30 กว่าปี ของครอบครัวที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน จนเกิดปัญหาชำรุดเสียหาย ยิ่งนานวันผู้อาศัยยิ่งรู้สึกถึงความอึดอัดทึบตัน ก่อนจะตัดสินใจรีโนเวทปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของครอบครัว และต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนเปิดเป็นสตูดิโอออกแบบขนาดเล็ก สู่ “บ้านประชาชื่น” เจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบคือคุณนัท รักษ์ชัย นรธีร์ดิลก


ชายหนุ่มเล่าให้เราฟังว่า “บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านประชาชื่น เป็นบ้านของครอบครัว ที่อาศัยอยู่กันมานานเกือบ 20 ปี โดยมีสมาชิกทั้งหมด 6 คน เดิมทีเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ซึ่งโครงสร้างเดิมเป็นของการเคหะ หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน ด้วยความที่คุณพ่อเองท่านก็เป็นสถาปนิก ก็ได้ทำการรีโนเวทปรับปรุงซ่อมแซมไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด จึงยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานเต็ม 100% นัก โดยช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บ้านที่อาศัยอยู่มานานก็เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมจากพื้นด้านล่าง เนื่องจากถนนหน้าบ้านถูกถมสูงขึ้นจากปกติ รวมไปถึงปัญหารางน้ำกลางบ้านที่ซึมจากหลังบ้าน อีกหนึ่งปัญหาสุดคลาสสิกที่อาจพบได้ทั่วไป”


คุณนัทเล่าต่อว่า “เมื่อสมาชิกในครอบครัวเริ่มเติบโตและเรียนจบ จึงได้มีการปรึกษาพูดคุยตกผลึกร่วมกัน ผมเองก็อยากทำสตูออกแบบเล็กๆ ไปด้วย เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับบ้านรวมกันหลายจุดเข้า เราเองก็อยากที่จะปรับปรุงซ่อมแซมครั้งใหญ่ให้จบทีเดียว ตลอดจนขยับขยายพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของครอบครัวที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น จึงกลายมาเป็นโปรเจคบ้านประชาชื่นหลังนี้


การรีโนเวทครั้งที่ 2 จึงได้เริ่มขึ้นด้วยงบประมาณที่ยังคงจำกัด ชายหนุ่มจึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม อย่างหลังคาเดิมที่เป็นโครงไม้ รีโนเวทครั้งแรกได้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างเหล็ก คุณนัทก็ยังคงหลังคาโครงเหล็กของเดิมไว้ เปลี่ยนแค่กระเบื้องหลังคาคอนกรีตเป็นกระเบื้องเมทัลชีท เพื่อป้องกันหลังคารั่วซึมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ด้วยข้อจำกัดของบ้านที่มีลักษณะหน้าแคบและลึก ปัญหาพื้นห้องน้ำที่ต่ำกว่าถนน และอีกส่วนหนึ่งมาจากเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ชั้นล่างเดิมที่ถูกจัดสรรเป็น Living space ก็อยู่ไม่ได้ การแก้ปัญหาจึงได้ปรับเปลี่ยนขึ้นมาไว้ชั้น 2 ของบ้าน ส่วนชั้นล่างก็ได้ออกแบบให้เป็นสตูดิโอ พร้อมยกปลั๊กไฟขึ้นทั้งหมด เพื่อป้องกันหากเกิดน้ำท่วมในอนาคต ทั้งนี้ผู้ออกแบบก็ได้มีการปรับระดับพื้นบ้านให้สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 20 ซม. ซึ่งก็ไม่ได้สูงกว่าถนนมากนัก เพราะหากถมสูงเกินไปจะยิ่งทำให้สเปซจากพื้นถึงคานค่อนข้างเตี้ยไปด้วย


เมื่อยืนมองจากภายนอก บ้านประชาชื่นก็ดูจะแตกต่างจากบ้านที่ขนาบอยู่ทั้งสองข้างอย่างสิ้นเชิง ด้วยรูปทรงที่ดูโมเดิร์นบวกกับโทนสีขาวสะอาดตา กับความโดดเด่นของประตูบานพับทรงสูงที่เลือกใช้วัสดุแผ่นตะแกรงเหล็กฉีก เพื่อบดบังสายตาจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันแสงและลมก็สามารถพัดผ่านเข้าไปยังพื้นที่ภายในบ้านได้เช่นกัน


ทันทีที่ประตูบานพับสีขาวเปิดออก เราจะพบกับพื้นที่สำหรับจอดรถรวมถึงทำกิจกรรมของคนในครอบครัว อย่างการปลูกต้นไม้ ผู้ออกแบบเลือกปูพื้นและผนังด้วยกระเบื้องแกรนิต ขนาด 60 x 60 ซม. สีเทาเข้มกับลุคที่ดูเรียบเท่ หากมีการเลอะเทอะ ก็สามารถทำความสะอาดได้โดยง่าย

อีกหนึ่งปัญหาก่อนการรีโนเวทบ้านหลังนี้ คือเรื่องของแสงและลม เดิมถูกจำกัดด้วยความที่เป็นทาวน์เฮ้าส์ เพื่อให้เกิดความโปร่งโล่งอยู่สบายมากที่สุด ผู้ออกแบบจึงได้เปิดช่องแสงโดยเลือกบริเวณโถงกลางบ้าน และโถงบันไดทางเดินเป็นหลัก เพื่อนำแสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาให้บ้านดูสว่าง ไม่อึดอัดทึบตัน รวมทั้งเพิ่มช่องเปิดให้เกิดการหมุนเวียนของลมจากหน้าบ้านไปหลังบ้านได้มากขึ้น




ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในใหม่ จากพื้นที่ชั้นล่างเดิมเคยเป็นส่วนนั่งเล่น พักผ่อนดูทีวี และรับประทานอาหาร ก็ถูกจัดสรรให้เป็นกับสตูดิโอออกแบบของคุณนัท ที่สัมผัสได้ถึงความโปร่งกว้างสบายตาด้วยโทนสีขาว ผสานเข้ากับพื้นกระเบื้องลายหินอ่อนและความอบอุ่นของวัสดุไม้ได้อย่างลงตัวในทุกมุมมอง




เนื่องจากบ้านมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกถึง 6 คน ทำให้ผู้ออกแบบต้องจัดสรรข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่มากมายให้เกิดความลงตัวมากที่สุด ซึ่งตัวเขาเองก็ได้บอกกับเราว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ชายหนุ่มเลือกที่จะปรับปรุงพื้นที่ใต้บันไดให้กลายเป็นตู้เก็บของขนาดใหญ่กรุด้วยลามิเนตลายไม้ ที่สามารถเปิดได้ตลอดแนว ภายในเสริมด้วยชั้นวางเหล็ก จัดวางด้วยกล่องพลาสติกที่ได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อการจัดเก็บของใช้ส่วนตัวของสมาชิกทุกคนได้อย่างเป็นระเบียบ ยิ่งเสริมให้ภายในบ้านดูเรียบร้อยและสะอาดตามากขึ้น


ส่วนบริเวณชั้น 2 ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่เช่นกัน จากเดิมด้านหน้าของบ้านเคยเป็นห้องนอน ทำให้บล็อกขวางทางลมและแดด ส่งผลให้อีกฝั่งของบ้านมืดทึบ ลักษณะจึงไม่ต่างจากนั่งอยู่ในถ้ำตลอดเวลา ยิ่งทำให้ผู้อาศัยรู้สึกไม่สดชื่น เมื่อเป็นเช่นกันนั้นผู้ออกแบบจึงยกฟังก์ชัน Living Room มาแทนที่ห้องนอนเดิม



เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะดูหนังฟังเพลง จะเห็นว่าความละมุนของผนังสีขาวที่ตัดกับความอบอุ่นของพื้นกระเบื้องยางลายไม้ ประกอบกับคาเรกเตอร์ของพื้นที่นั่งเล่น ที่สามารถเปิดรับลม รับอากาศ รับแสงแดดก็ยิ่งทำให้บ้านทั้งหลังดูโปร่งโล่งและสว่างมากขึ้น

จากส่วนนั่งเล่นเชื่อมต่อไปยังกลางบ้าน ผู้ออกแบบได้จัดสรรให้เป็นครัวเปิด เน้นประกอบอาหารเบา ถัดไปเป็นมุมสำหรับรับประทานอาหาร จัดวางด้วยเฟอร์นิเจอร์เพียงน้อยชิ้นได้อย่างเรียบง่าย และด้วยการออกแบบที่เปิดโล่ง ทำให้สมาชิกในครอบครัวยิ่งมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน โดยสามารถมองเห็นกันและกันได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน อย่างห้องนอนที่เป็นฟังก์ชันที่ค่อนข้างไพรเวท ก็ได้ถูกจัดสรรไว้ด้านหลังของบ้านนั่นเอง


หากถามถึงส่วนที่ยากที่สุดในการรีโนเวททาวน์เฮ้าส์หลังนี้ คุณนัทได้บอกกับเราว่า “บ้านหลังนี้เริ่มยากตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบ การแก้ไขปัญหาต่างๆ การรื้อถอน ด้วยองค์ประกอบที่ค่อนข้างซับซ้อนผ่านการต่อเติมมาแล้วหลายครั้ง รวมไปถึงการคุมงบประมาณ และการหาช่างที่สามารถรับงานในงบที่กำกัด”


แม้จะมีความยาก แต่ผู้เป็นเจ้าของก็สามารถเปลี่ยนบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเดิมที่ดูมืดทึม ทึบตัน มีความวุ่นวาย สับสน ไม่ลงตัว สู่ “บ้านประชาชื่น” ในขนาดที่พอดีลงตัวกับสมาชิกที่กำลังจะขยายใหญ่ขึ้น ด้วยงบประมาณ 1 ล้านบาท ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์การใช้งานของครอบครัว แต่ยังรองรับการพื้นที่สำหรับเปิดเป็นสตูดิโอออกแบบเล็กๆ ของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างตรงใจเลยทีเดียว


Project name : Baan Prachachuen

Completion Year : 2020

Architect’ Firm : Rakchai Architects

www.facebook.com/Rakchai-Architects

Contact e-mail : rakchai.architects@gmail.com

Photo credits : Wittawat Yudee

———————————————-