ไอเดีย DIY โรงเรือนขนาดเล็ก จากวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัว ง่ายๆ แถมได้ทานผักสดปลอดสารพิษ !!!

0
ภาพจาก shomestylish.net

ปลูกผักสวนครัวกินเอง แม้พื้นที่จำกัดก็หายห่วง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าวัยรุ่นหนุ่มสาว คนวัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงวัย เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่งเห็นชัดเจนว่ามีงานวิ่งจัดกันทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละหลายงาน และผู้คนก็ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็ยังหันมาปรับวิถีการกินอยู่ หลายครัวเรือนเริ่มหันมาปลูกผักสวนครัวไว้ทานเองมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ว่างรอบรั่วบ้าน ไม่เพียงจะได้ผักสดที่ปลอดภัยจากสารเคมี ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง ที่สำคัญยังเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียว เติมความสดชื่นให้บ้านของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น

Garden update ประจำสัปดาห์นี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาปลูกผักปลอดสารพิษแบบฉบับ DIY กับไอเดียแปลงผักกางมุ้ง เสมือนโรงเรือนขนาดเล็ก ที่นอกจากจะช่วยพลางแสงแดดแล้ว ยังช่วยป้องกันแมลงและเหล่าศัตรูพืชที่จะเข้ามากัดกินภายในได้ด้วย โดยสามารถเริ่มต้นง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มากนัก และไอเดียที่เรานำมาแชร์กันนั้นเป็นของคุณฟอร์ดธนวัฒน์ พันธ์โยศรี และทีมงาน ซึ่งเป็นสวนที่เคยจัดประกวดงานเกษตรแฟร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจองเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อปีที่ผ่านมา จะน่าสนใจแค่ไหนตามไปดูกันเลยค่ะ

คุณธนวัฒน์ เล่าว่า “แนวคิดของเราคือสร้างงานขึ้นมาให้เป็นพื้นที่ Working Space สำหรับใช้งานได้หลากหลาย และใช้งานได้จริงในพื้นที่รอบรั่วบ้าน ด้วยการดีไซน์โครงไม้จากแผ่นไม้เก่า ที่เปรียบได้ดั่งฉาก ผนังหรือมุมบ้าน โดยแบ่งให้มีพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในงานดูแลสวน ไม่ว่าจะเป็นจอบ เสียม พลั่ว บัวรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น ผ่านการจัดเรียงให้เกิดความสวยงาม นอกจากจะหยิบใช้งานสะดวก ยังทำให้สวนดูมีเรื่องราวยิ่งขึ้นด้วย”

สำหรับต้นไม้ที่ใช้จัดสวนเป็นต้นไม้ที่หาได้ทั่วไป ในส่วนที่เป็นไม้ประดับสามารถเลือกได้ตามใจชอบ อย่างต้นคริสติน่าใบแดง และต้นนีออน หากเป็นไม้กระถางก็จะสามารถจัดเรียงบนชั้นเพิ่มความสวยงามได้เช่นกัน อาทิต้นเคราฤาษี โกฐจุฬาลัมพา กระบองเพชร เป็นต้น อีกทั้งมุมนี้ยังสามารถตั้งชุดโต๊ะ เก้าอี้สนามเพื่อเป็นพื้นที่ทำงาน หรือพักผ่อนชิลล์ๆ ก็ได้เช่นกัน

ในส่วนพื้นที่การใช้งานหลักนั้น คุณฟอร์ดเล่าว่า จะเน้นในส่วนที่เป็นแปลงผักสวนครัว โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ฝั่งแรกจะเป็นผักสวนครัวทั่วไปเช่นชะพลู ตะไคร้ กระเพรา กระเพราสี และผักชีลาว ชายหนุ่มแนะนำว่าการจัดโซนแบ่งแปลงนั้นควรจัดลำดับทรงพุ่มให้สมดุลกัน นอกจากจะได้ประโยชน์ยังได้ในเรื่องความสวยงาม และในส่วนพื้นที่อีกฝั่งนั้นเป็นโรงเรือนขนาดเล็ก ที่สามารถเปิดปิดได้ ซึ่งเราสามารถ DIY จากวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็น ไม้เก่า, ท่อ PVC, ตาข่ายกันแมลง หรือสแลน

สำหรับขั้นตอนในการโรงเรือนขนาดเล็ก มีดังนี้

  1. ใช้ไม้ขนาดหน้าตัด 4 นิ้วขึ้นไปหนา 2 นิ้วขึ้นไป

2. ประกอบไม้โดยใช้สกรูยึด ให้เป็นสี่เหลี่ยมหรือขนาดที่ต้องการ ทำแบบเดียวกัน 2 ชิ้น

3. ประกอบโครงไม้สี่เหลี่ยมที่ได้ด้วยบานพับประตู เพื่อให้สามารถเปิดปิดได้

4. ใช้ฝาครอบ PVC 4 หุน 6 ชิ้น ยึดติดกับไม้ 4 มุม และ 2 ชิ้นตรงกลาง โดยใช้สกรูยึด หงายฝาท่อขึ้นเพื่อทำโครง

5. จากนั้นใช้ท่อ PVC ความยาวประมาณ 1.5 เมตร 3 อัน เสียบที่ฝาครอบท่อที่ยึดไว้ ด้วยการดัดให้โค้งเพื่อทำเป็นโครงหลังคา

6. เชื่อมโครงสร้างโรงเรือนด้วยลำไม้ไผ่ระหว่างคานและเสา โดยมัดยึดตามจุดเชื่อมด้วยเชือกเพื่อความแข็งแรงทนทาน

7. มุงด้วยตาข่าย หรือสแลน

เมื่อโรงเรือนขนาดเล็กเสร็จเรียบร้อย คุณฟอร์ดเล่าต่อว่าหากเรานำโรงเรือนไปปลูกบนพื้นปูน จะต้องทำการรองด้วยแผ่นยางหรือพลาสติกเสียก่อน เพื่อช่วยลดความร้อนจากปูนสู่ดิน หรือหากปลูกบนพื้นดิน ก็จะช่วยป้องกันดินเดิม กับดินที่เราเตรียมปลูกใหม่นั้นไหลปนรวมกัน

หลังจากนั้นก็มาถึงขึ้นตอนการเตรียมดินปลูก โดยจะมีส่วนผสมของขุยมะพร้าวสับ ดินภูเขาไฟ ดินปลูก และทราย ทำให้มีประสิทธิภาพกว่าดินปลูกทั่วไป จึงสามารถอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี และมีธาตุอาหารครบถ้วน โดยครั้งนี้เน้นเป็นผักสลัดหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และคอส จะเห็นว่านอกจากโรงเรือนจะมีหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิของแสงแดด ยังช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชได้อย่างดีอีกด้วย

หลังจากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่งทางเดิน โดยได้มีการคั่นกลางระหว่างแปลงปลูกด้วยหิน กรวด วางด้วยแผ่นทางเดิน และกั้นแปลงขอบสวนด้วยอิฐมอญแดง นอกจากจะดูสวยงาม ยังช่วยกันดินจากแปลงปลูกไหลลงมาผสมกับกรวด ที่จะทำให้สวนดูเละเทะไม่น่ามอง สำหรับงบประมาณในครั้งนี้เบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 2,000 กว่าบาท หรือหากสามารถเพาะเมล็ดพืชผักได้เองก็จะช่วยประหยัดยิ่งขึ้น เพียงเท่านี้เราก็มีผักสด ปลอดสารพิษไว้ทานเอง หรือใครมีไอเดียต่อยอดปลูกขายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยสร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


ขอบคุณภาพและข้อมูงจากคุณธนวัฒน์ พันธ์โยศรี และทีมงาน