ห้องแถวเก่าทรุดโทรม เปลี่ยนลุคสู่บ้านมินิมอลชั้นครึ่ง สุดปังในงบประหยัด!
ภาพของห้องแถวไม้เก่าผุพังที่ชำรุดไปตามกาลเวลา ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปี จนเมื่อเจ้าของคือกิตติวัฒน์ ตันฑสุกิจวณิช ได้ย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี จึงเริ่มมีความคิดที่อยากทำบ้านไว้ให้ลูกสาว พร้อมทั้งใช้ชีวิตอยู่ในบั้นปลายชีวิตกับครอบครัว นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านสีขาวชั้นครึ่งสไตล์มินิมอลหลังนี้
จากสภาพของบ้านที่ดูเก่าทรุดโทรมไม่น่าอยู่ เกิดเป็นความคิดเริ่มแรกให้ชายหนุ่มอยากรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ แต่เมื่อได้ทำการสำรวจดูแล้วพบว่าโครงสร้างเดิมที่เป็นไม้ประดู่กว่า 90% ยังคงแข็งแรงดีอยู่ ในส่วนที่ชำรุดหนักคือหลังคาสังกะสีมีรอยรั่ว ผนังไม้ผุพังเป็นรูโหว่ คุณกิตติวัฒน์ จึงกลับมาคิดว่าหากรีโนเวทน่าจะประหยัดงบกว่ามาก ประกอบกับที่เขาเคยได้ต่อเติมด้านหลังบ้านเป็นแนวลอฟต์ไว้บ้างแล้ว จึงตัดสินใจซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเสียหาย โดยยังไม่ได้คิดอะไรมากในช่วงแรก
ทั้งนี้คุณกิตติวัฒน์ ก็ได้เล่าถึงปัญหาที่พบหน้างานว่า “บ้านผมอยู่ในอำเภอชนบท ไม่มีผู้รับเหมาที่มีชื่อ จึงต้องใช้ช่างทั่วไป ในพื้นที่ ที่ยากไปกว่านั้นคือหากไประบุว่าสไตล์มินิมอล หรือสไตล์ลอฟต์ แน่นอนว่าช่างจะไม่รู้จัก และนึกภาพไม่ออก ผลงานที่ออกมาจึงไม่ค่อยตรงกับใจเรา ผมเลยให้พี่เขย เข้ามาช่วยสานต่อความต้องการ ด้วยการขึ้นแบบ 3D ตามแบบในหัวเรา เพื่อให้ช่างเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น”
ชายหนุ่มได้อธิบายทีละขั้นตอนว่า ได้เริ่มจากเคลียร์พื้นที่เดิมให้โล่ง โดยการถอนต้นไม้ ถางหญ้ารกให้โล่ง เพื่อเทปูนบริเวณพื้นที่รอบนอก ตามด้วยงานหลังคา จากความตั้งใจแรกนั้นเขาอยากปูกระเบื้อง แต่ด้วยโครงสร้างเดิมที่ดูแล้วคงไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักกระเบื้องไหว เขาจึงเลือกใช้เมทัลชีท (PU Foam) ในส่วนของหลังคาหลัก และใช้แบบฉนวนบางรอบๆ ชายคา แทนของเดิมที่เป็นสังกะสีเก่าผุพัง ซึ่งก็ตอบโจทย์กับปัญหาความร้อนสะสมบริเวณชั้นสอง ที่ไม่สามารถใช้งานได้ อีกทั้งในวันที่ฝนตก คนในบ้านก็ต้องตะโกนคุยกันเพราะเสียงฝนกระทบหลังคาสังกะสีดังกวนใจ วัสดุที่เขาเลือกใช้ก็นับว่าช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้พอสมควร
จากนั้นก็มาถึงงานฝ้า ทั้งเพดานและผนังเลือกใช้เป็นยิปซั่มบอร์ดทำเป็นฝ้าฉาบเรียบ โดยครอบคานไม้ซ่อนไว้ เพื่อสร้างความสวยงาม ในส่วนของชายคาด้านนอกเลือกใช้สมาร์ทบอร์ด จากนั้นเดินสายไฟซ่อนฝ้าเพื่อไม่ให้ดูเกะกะสายตา
ตามด้วยงานผนังชั้นสอง เริ่มจากรื้อแผ่นไม้เก่าออก แล้วทำการปรับปรุงโครงไม้ ปูแทนที่ด้วยเมทัลชีทผนังลอนต่ำ โดยยังคงวงกบหน้าต่างเดิมไว้ ขณะที่งานภายในพื้นที่ส่วนชั้นสองที่ระอุไปด้วยความร้อนสะสม ผู้เป็นเจ้าของจึงอยากให้เกิดความโปร่งโล่งอยู่สบายมากที่สุด จึงได้ให้ช่างรื้อพื้นชั้นสองออก เพื่อปรับเป็นชั้นครึ่ง แล้วปูกระเบื้องยางลายไม้ทับพื้นเดิม พร้อมออกแบบราวกันตกที่ดูปลอดโปร่งไม่ทึบตัน
สำหรับงานตกแต่งภายในบริเวณท้องคาน คุณกิตติวัฒน์เลือกใช้ไม้ยางพาราประสานขนาด 16 mm. ทำเป็นกล่องครอบไม้ประดู่สีแดงที่เป็นของเดิม ทั้งในส่วนของเสาและคาน ซึ่งเขาได้ลงมือดีไซน์เองกับลูกมืออีกคน เพราะช่างไม่เข้าใจว่าอยากให้ออกมาในรูปแบบไหน เมื่อทั้งหมดเสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงขึ้นตอนการเก็บรายละเอียดอย่างการติดบานประตู ติดกระจกอลูมิเนียม พร้อมครอบตกแต่งด้วยงานไม้ เพื่อความสวยงาม
โดยในส่วนของทางสัญจรเขาได้ย้ายหน้าบ้านมาไว้ด้านข้างแทน เพื่อแยกทางเข้าออกจากห้องแถวไม้ ให้เกิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยได้รื้อประตูเหล็กเก่า ก่ออิฐบล็อกช่องลมพร้อมติดประตูบานใหม่ ที่นอกจากจากจะสร้างความเป็นส่วนตัวแล้ว ลมยังพัดผ่านได้สะดวก สร้างความเย็นสบายให้ผู้อาศัยไม่น้อย
แม้ชายหนุ่มไม่ได้เป็นผู้รับเหมา ไม่ได้มีทักษะด้านงานดีไซน์ สิ่งที่ทำได้คือลองผิดลองถูก โดยวางแผนประกอบกับ Reference จากกลุ่มแต่งบ้าน ที่นำไปปรับตามความชอบและความเหมาะสมกับพื้นที่หน้างาน ด้วยวัสดุที่หาง่าย สร้างได้ง่ายๆ เพื่อให้ช่างในพื้นที่ทำงานได้สะดวก โดยเขาก็ได้คุมหน้างานเองในทุกขั้นตอน กับงบประมาณคร่าวๆ ดังนี้
ปรับพื้นที่เทพื้น 80,000.-
งานหลังคา 120,000.-
งานโครงสร้าง 100,000.-
งานฝ้าเพดานและผนัง 100,000.-
งานกระจก 50,000.-
งานไม้ตกแต่ง 40,000.-
งานอื่นๆ อีกประมาณ 50,000.-
สำหรับใครที่กำลังอยากรีโนเวทปรับปรุงบ้าน ก็สามารถนำไอเดียนี้ไปประยุกต์กันดูนะคะ นอกจากจะได้บ้านสวยตรงใจ แถมยังคุมงบประมาณได้อีกด้วย
ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูล : กิตติวัฒน์ ตันฑสุกิจวณิช