บ้านสีขาวชั้นครึ่งยกใต้ถุนสูง สะท้อนการใช้ชีวิตตามวิถีชนบทที่คุ้นชิน ด้วยงบประมาณ 1.85 ล้านบาท!

0


ผสมผสานความเป็นชนบท และความทันสมัยของงานดีไซน์

รายล้อมด้วยแปลงผักสวนครัวรอบรั่วบ้าน 


บ้านสีขาวชั้นครึ่งยกใต้ถุนสูง กับภาพที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นเรียบง่าย รายล้อมไปด้วยแปลงผักสวนครัวนานาชนิด ในจังหวัดขอนแก่นหลังนี้ ผ่านการออกแบบที่สะท้อนแนวคิดการใช้ชีวิตของคนไทยอีสานดั้งเดิม ด้วยการผสมผสานระหว่างความเป็นชนบท และความทันสมัยของงานดีไซน์หลากสไตล์ไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน เจ้าของคือคุณกฤษฎา สุขอนันต์ ชายหนุ่มที่ได้ใช้ระยะเวลาปีกว่า ลงมือสร้างบ้านหลังนี้ เริ่มตั้งแต่หาซื้อที่ดิน ออกแบบ ขออนุญาตปลูกสร้างบ้าน ขอสินเชื่อ หาผู้รับเหมา ควบคุมการก่อสร้าง หาซื้ออุปกรณ์ เลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ กระทั้งการขอเลขที่บ้าน น้ำ และไฟ จนออกมาเป็นบ้านในฝันที่ตรงใจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในครอบครัว

คุณกฤษฎา เล่าว่า “ด้วยการหาซื้อที่ดินขนาดเพียง 56 ตารางวา ใกล้กับสนามบินขอนแก่น ซึ่งมีขนาดที่เล็กมาก หากสร้างบ้านชั้นเดียวจะไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ ประกอบกับต้องการบ้านที่มีใต้ถุน ตามแบบบ้านอีสานดั้งเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ที่สมาชิกในครอบครัวสามารถรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อย่างการปลูกต้นไม้ และผักสวนครัวตามแบบฉบับคนชนบทที่คุ้นชิน บ้านหลังนี้จึงไม่ได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการผสมผสานกันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบอีสาน มินิมอล นอร์ดิก ลอฟท์ โมเดิร์น เจือกลิ่นอายญี่ปุ่นนิดๆ”

พื้นที่บ้านบ้านหลังนี้อยู่ที่ประมาณ 56.6 ตารางวา กว้าง 12 เมตร ยาว 18 เมตร โครงสร้างบ้านลักษณะชั้นครึ่ง ขนาดตัวบ้านเดิมอยู่ที่ 160 ตารางเมตร ได้มีการต่อเติมพื้นที่ด้านข้างและด้านหลังอีก 20 ตารางเมตร สเปซภายในประกอบด้วย 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องอเนกประสงค์ 1 ห้องทำงานเล็กๆ  2 ห้องครัว และห้องเก็บของแบบเปิดโล่ง พร้อมพื้นที่จอดรถได้อีก 2 คัน (3 คันแบบเต็มพื้นที่) ชายหนุ่มเล่าว่า ได้เริ่มออกแบบเองในขั้นต้น โดยจ้างคนเขียนแบบ 3D เพื่อให้เห็นภาพจริงก่อนทำการก่อสร้าง ก่อนจะส่งต่อความต้องการให้ผู้ออกแบบได้สานฝันให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ราคาค่าก่อสร้าง อยู่ที่ 1.85 ล้านบาท ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทรับสร้างบ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น

เมื่อมองจากภายนอก บ้านหลังนี้ดูค่อนข้างมีความโมเดิร์น ผสานกับสไตล์นอร์ดิก ด้วยลักษณะทรงกล่องสี่เหลี่ยม เชื่อมเข้ากับโครงสร้างอีกฝั่งที่โดดเด่นด้วยรูปทรงสามเหลี่ยมทรงสูง เปิดโล่งใต้ถุน ตามรูปแบบบ้านพื้นถิ่นอีสานสมัยก่อน ด้วยแนวคิดการใช้ชีวิตแบบคนไทยอีสานดั้งเดิม

คุณกฤษฎา เล่าเพิ่มเติมว่า “ต้องการสร้างพื้นที่ส่วนกลางมากที่สุด ให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ของสมาชิกในครอบครัว ที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานตามโอกาส ทำให้เกิดความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่ ตั้งแต่ใต้ถุนบ้านที่เป็นทั้งที่จอดรถ พื้นที่สังสรรค์ ส่วนครัว และพื้นที่เก็บของ รวมไปถึงการเชื่อมโยงของระเบียง ห้องอเนกประสงค์ ห้องทำงาน และครัวด้านบน จะเห็นว่าเมื่อเลื่อนประตูออก ทุกฟังก์ชันภายในดูเชื่อมโยงทุกส่วนถึงกันอย่างอบอุ่นลื่นไหล” บรรยากาศภายในบ้านจึงสร้างความผ่อนคลายให้ผู้อาศัยไม่น้อย

ด้วยรูปแบบบ้านสไตล์นอร์ดิก มักมีปัญหาเรื่องความร้อน และปัญหาการรั่วซึม ก่อนที่จะเลือกออกแบบบ้านสไตล์นี้ ชายหนุ่มก็ได้ศึกษาความเสี่ยงประเด็นนี้มาพอสมควร จึงได้พยายามที่จะวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่การก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ด้วยการวางทิศบ้านหันไปทางทิศตะวันออก ประกอบกับการออกแบบเพดานที่สูงโปร่ง และการออกแบบช่องว่างให้ความร้อนลอยตัวขึ้นด้านบน รวมถึงการออกแบบตำแหน่ง และขนาดของประตูหน้าต่างที่เหมาะสม จึงช่วยคลายความร้อนให้บ้าน ทำให้ตอนกลางวันสามารถอยู่ได้สบายไม่ร้อนเกินไปนัก ทั้งนี้เขาเองก็ยังไม่เคยเจอหน้าร้อนจริงๆ ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน ว่าจะร้อนหนักแค่ไหน เพราะเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ได้ 2 เดือนเท่านั้น ในส่วนของปัญหาเรื่องการรั่วซึมในส่วนชายคา ก็ได้เลือกใช้ประตูหน้าต่างอลูมิเนียมชนิดที่ป้องการการรั่วซึมได้ดีมากขึ้น ซึ่งราคาก็ค่อนข้างสูงกว่าปกติ

ไม่เพียงความโดดเด่นของงานดีไซน์แล้ว ที่สะดุดตาต่อผู้พบเห็น ก็คงไม่พ้นแปลงผักสวนครัว ที่ปลูกรายล้อมรอบบ้าน คุณกฤษฎา เล่าต่อว่า “แนวคิดในการจัดสวนของผมคือร้อยละ 90 เป็นพืชที่ทานได้ และเป็นผักพื้นบ้านท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดูแลได้ง่าย เหมาะกับสภาพอากาศของภาคอีสาน ชนิดที่เลือกมาปลูกจะมีทั้งไม้ยืนต้น และประเภทผัก เช่น จิกน้ำ ปลูกเป็นไม้ประธาน ขี้เหล็ก ต้นแม็ก ย่านาง ผักแพว ผักแขยง ผักติ้ว ประเภทเฟิร์นเลือกปลูกเป็นผักกูด เป็นต้น”

นอกจากความลงตัวที่ผสมผสานกันได้หลากสไตล์อย่างสร้างสรรค์แล้ว บ้านหลังนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เพื่อให้ใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งชายหนุ่มก็ได้ให้ไอเดียเพิ่มเติมไว้ว่า “สามารถเพิ่มเติมห้องได้หลังคาได้ ในอาคารฝั่งสูง หรือทำเป็นดาดฟ้าชมวิวได้ในอาคารฝั่งกล่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณนั่นเอง”

“หรืออย่างห้องครัวด้านหลังที่เชื่อมกับพื้นที่จอดรถ แนวคิดที่เจ้าของวางไว้คือสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามต้องการในแต่ละช่วง เช่นเป็นพื้นที่สังสรรค์ในบางโอกาส โดยบ้านหลังนี้เคยต้อนรับแขกได้ถึง 50 คน ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง แบบไม่อึดอัด ในพื้นที่เล็กๆ และอีกอย่างเมื่อรถจากรถ ก็สามารถหิ้วของที่ซื้อเข้าห้องครัวได้เลย จึงค่อนข้างสะดวกสบายเลยทีเดียว” บ้านหลังนี้จึงเป็นความอบอุ่นแห่งวิถีอีสานร่วมสมัย สะท้อนการใช้ชีวิตตามวิถีชนบท เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ได้อย่างลงตัวไม่น้อย


ขอขอบคุณภาพประกอบและข้อมูล : คุณกฤษฎา สุขอนันต์