บ้านดีไซน์ร่วมสมัย กลิ่นอายชนบท ที่ยังคงเก็บต้นไม้เดิมไว้
เลือกใช้วัสดุในท้องถิ่นได้อย่างสมดุล
บ้านสวนยามเกษียณหลังนี้ ตั้งตะหง่านอวดโฉมความงามในเรียบง่าย แทรกตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องหน้าสดชื่นสบายตาไปกับความเขียวขจีของทุ่งนากว้าง โอบด้วยความร่มรื่นของต้นไม้รอบทิศทาง อีกทั้งแนวเทือกเขาดอยม่อนแจ่ม ในยามนี้กำลังไล่เฉดสีเข้มอ่อน สลับซับซ้อนไปมาราวภาพวาด
องค์ประกอบทั้งหมด คล้ายเป็นกรอบในการวางผังอาคารหลังนี้ สอดรับไปกับบริบท และพื้นที่ตั้งได้อย่างลงตัว เจ้าของคือคุณพงศ์สยาม และคุณอุราลักษณ์ ชูติวัตร ได้มอบโจทย์ความต้องการให้กับ คุณสัญญา เทียนสว่าง สถาปนิก ที่เป็นทั้งผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง จนบ้านหลังนี้แล้วเสร็จ ตอบโจทย์การพักผ่อนของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างตรงใจ
กว่าที่บ้านหลังนี้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์นั้น แรกเริ่มเดิมที เจ้าของมีสวนทุเรียน ถัดจากพื้นที่นี้ไม่ไกลกัน โดยตั้งใจที่จะสร้างบ้านด้านในสวน คุณสัญญาก็ได้เข้ามาดีไซน์เป็นลักษณะบ้านชั้นเดียวจนแล้วเสร็จ แต่ไม่นานทางเจ้าของก็ซื้อที่ดินแปลงนี้ได้ เนื่องจากความโดดเด่นของทำเลที่อยู่ติดทุ่งนา มองเห็นวิวภูเขากว้างไกล สถาปนิกจึงตัดสินใจที่จะดีไซน์แบบบ้านขึ้นใหม่ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ตั้ง และบริบทเดิม โดยเลือกที่จะยกใต้ถุนสูง เปิดโล่งแบบบ้านชนบท แต่กระนั้นก็ยังคงความเป็นส่วนตัว เพื่อสร้างมุมมอง และสเปซ ที่จะสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศวิวทิวทัศน์ได้โดยรอบ
ด้วยความที่ลักษณะของที่ดินแปลงนี้ แม้จะอยู่ติดทุ่งนา แต่คั่นด้วยถนนสายเล็กๆ และยังมีต้นไม้ดั่งเดิมที่เติบโตมาในพื้นที่ สถาปนิกจึงเริ่มต้นออกแบบโดยอิงจากตำแหน่งที่ตั้งเป็นหลัก เลือกที่จะรักษาต้นไม้เดิมไว้ โดยวางบ้านให้แทรกตัวลงไปอย่างเป็นมิตร สถาปนิกเล่าเพิ่มเติมว่า “คอนเซ็ปต์หลักที่วางไว้คือ คงต้นไม้เดิมไว้แทบทุกต้น สำคัญคือบริเวณที่ตั้งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้เกือบรอบทิศทาง แต่ปัญหาก็คือ จุดที่วิวดีที่สุดนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็คือด้านที่ขนานไปกับแนวถนน และเป็นทิศที่แดดค่อนข้างแรง”
ฉะนั้นโจทย์ในการวางอาคาร นอกจากจะต้องคำนึงถึงทิศทางแดดแล้ว สถาปนิกยังให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับต้นไม้เดิม และการเปิดมุมมองรับวิวธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เขาจึงตัดสินใจวางแนวอาคารขนานไปกับถนน ดีไซน์ชายคาให้ยื่นยาวออกมาเพื่อบดบังแสงแดด แต่เมื่ออยู่ภายในบ้าน ไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน ก็สามารถมองเห็นวิวได้ทั้งหมด ซึ่งข้อดีนั้น เมื่อแสงแดดยามบ่ายส่องเข้ามาทางทิศตะวันตก ทำให้ด้านที่อยู่ฝั่งตะวันออกที่เป็นลานโล่งและมีต้นไม้ใหญ่ เกิดร่มเงา ซึ่งก็เป็นความลงตัวที่พอดิบพอดี


คุณสัญญาเล่าเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของการวางเลย์เอาท์นั้น ผมพยายามดีไซน์หลบเลี่ยงแนวต้นไม้เดิมให้คงไว้ อย่างต้นฉำฉาสูงใหญ่ที่มีอายุกว่า 80 ปี ต้นขนุน และมะพร้าว รวมไปถึงบ่อน้ำเก่า ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปี ก่อน พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหนึ่ง แล้วได้เกิดน้ำท่วมสูง จนชาวบ้านที่เคยอาศัยในละแวกนี้ ต่างก็พากันย้ายหนีออกไปหมด บริเวณนี้ จึงยังคงมีบ่อน้ำเก่าอยู่หลายจุด ที่เคยได้ใช้อุปโภคบริโภค ผมก็ยังคงไว้ โดยเลี่ยงที่จะไม่ถมทิ้ง แต่เลือกอิฐมอญเข้ามาตกแต่งเพิ่มเติม ให้สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมได้อย่างไม่แปลกแยก”
อาคารหลังนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่องของทิศทางแสงแดด และลม โดยเฉพาะการระบายอากาศ เพื่อให้ผู้อาศัยรู้สึกอยู่สบายมากที่สุด และเน้นใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นถิ่นทั่วไป อย่างคอนกรีต ไม้เก่า ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม รวมไปถึงการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ 2 ชั้น โดยมีสังกะสีอยู่กึ่งกลาง เพื่อป้องกันความร้อน และไม่ให้เกิดการรั่วซึม
สำหรับการออกแบบตัวอาคารด้านนอกนั้น สังเกตได้ว่าจะไม่มีฝ้าเลย ลักษณะเปิดโล่งหมด แต่ภายในสถาปนิกดีไซน์ใส่ฝ้าเข้าไป พร้อมเลือกติดตั้งบานประตูอลูมิเนียม ขนาดโอเวอร์ไซส์ ยิ่งเสริมให้บ้านดูโปร่งโล่งขึ้น ให้ความผ่อนคลายทุกครั้งที่ผู้เป็นเจ้าของเข้ามาพัก และนอกจากความสวยงามแล้ว ยังง่ายต่อการดูแลอีกด้วย พร้อมกันนี้ก็ได้ออกแบบช่องเปิด เพื่อให้ลมสามารถระบายได้โดยรอบบ้าน ทำให้บ้านเย็น เวลานอนแทบไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ และยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย


แง่งามความของอาคารดีไซน์ยกใต้ถุนสูง ร่มรื่นด้วยสนประดิพัทธ์ ที่ปลูกเรียงตัวเป็นแนวสวย ทอดสายตาไปตามกำแพงที่ยาวขนานไปกับถนน ก่อนจะพบกับส่วนที่ถูกดีไซน์ให้เว้าเข้าไป เพื่อเว้นพื้นที่ให้ต้นขนุน และมะพร้าว รวมไปถึงบ่อน้ำเก่า ล้อไปกับประตูเก่าจากอินเดีย หนึ่งในของสะสมที่ถูกเก็บอยู่ใต้ถุนบ้านมานาน ได้อย่างลงตัว
เข้าสู่พื้นที่จอดรถ คุณสัญญาเล่าเพิ่มเติมว่า “เดิมตรงนี้ เรามีความคิดที่จะสร้างเป็นบ้านพัก สำหรับเจ้าของที่จะแวะมานอนเป็นครั้งคราว ส่วนใต้ถุนบ้าน ตั้งใจให้เป็นที่จอดรถ แต่พอเริ่มสร้าง ก็รู้สึกเสียดายพื้นที่ใต้ถุน ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ผมจึงวางผังใหม่ โดยแยกโรงจอดรถออกจากตัวบ้าน ให้เป็นสัดส่วนน่ามองมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อคงต้นไม้เดิม และบ่อน้ำเก่าไว้ ผมจึงดรอปร่นระดับพื้นที่เข้าไป เพื่อให้รถเลี้ยวเข้าบ้านได้สะดวก ไม่ติดถนนด้วย”
ทั้งนี้บริเวณพื้นที่จอดรถ ยังจัดสรรเป็นห้องเก็บของ และห้องน้ำ ก่อนจะเดินผ่านทางเชื่อม ดีไซน์โปร่งโล่งด้วยเสาไม้เนื้อแข็ง ไล่เรียงจังหวะวางเป็นแนวยาว ขนานไปกับที่ดิน เกิดเป็นอาคารสองหลังที่เชื่อมต่อกันอย่างมีเอกลักษณ์ ก่อนจะพบกับใต้ถุนบ้าน พื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ของครอบครัว จัดวางด้วยชุดโต๊ะ – เก้าอี้ จากไม้ฉำฉา ที่เจ้าของซื้อจากบ้านถวาย ถัดไปยังจัดสรรเป็นห้องครัวไทย สำหรับประกอบอาหารหนัก และด้วยความโปร่งโล่งของพื้นที่ใต้ถุนบ้าน ยิ่งช่วยให้ลมพัดผ่านและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี
จากพื้นที่ใต้ถุน เชื่อมออกไปยังสวนสวย ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งมุมพักผ่อนของครอบครัว ให้ความลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติด้วยแผ่นทางเดิน พาไปสู่ชิงช้าไม้ ที่สถาปนิกได้ดีไซน์ และให้ช่างไม้ทำขึ้นมา ลานกว้างนี้เจ้าของตั้งใจให้เป็นพื้นที่แคมป์ปิ้งเล็กๆ ซึ่งก็ได้นักแลนด์สเคปเข้ามาช่วยส่วนหนึ่ง ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เน้นความเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด สวนนี้จึงเน้นต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก มีเพื่มเข้าไปใหม่แค่ 3 ตั้นเท่านั้น ที่เหลือคือปลูกหญ้า แทรกไม้พุ่ม เพื่อสะดวกต่อการดูแลมากที่สุด
สำหรับการออกแบบฟังก์ชันภายในอาคาร ค่อนข้างมีความหลวม สบายๆ เนื่องจากเจ้าของบ้านจะกลับมาพักผ่อนเป็นครั้งคราว ในยามที่มาดูสวนทุเรียนเท่านั้น หลักๆ ประกอบด้วย 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ชั้นบนมีพื้นที่นั่งเล่น ที่เชื่อมต่อไปยังส่วนรับประทานอาหาร และแพนทรี่สำหรับประกอบอาหารเบา
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือการดีไซน์ระเบียงโดยรอบ ทำให้เทควิวได้เกือบรอบ 180 องศา สามารถออกไปสัมผัสธรรมชาติ พักผ่อนหรือทำกิจกรรม นั่งมองทิวเขาและท้องทุ่ง และวิวสวนสวยได้อย่างใกล้ชิดเต็มสายตา


ที่สะดุดสายตาคือการออกแบบห้องน้ำ สถาปนิกเลือกวางตำแหน่งไว้ด้านทิศตะวันตก เพื่อช่วยกรองความร้อนที่จะเข้ามายังห้องนอนได้ส่วนหนึ่ง โดยเลือกใช้บานหน้าต่างอลูมิเนียมกระจกใส ที่เผยให้เห็นวิวธรรมชาติเบื้องหน้า โดยด้านนอกที่เป็นระเบียงกว้างนั้น เขาเลือกวางอ่างไม้ ไว้สำหรับเจ้าของได้นอนแช่กายเทควิวเพลินๆ ด้วย
อีกโจทย์สำคัญคือ เจ้าของบ้านมีไม้สักเก่าอยู่พอสมควร และเป็นไม้พื้นกับไม้เสา ที่ถูกเก็บมาอย่างดี ฉะนั้นสถาปนิกจึงตั้งใจดีไซน์ไม้เหล่านี้ เข้ามาเป็นหนึ่งในบ้านหลังนี้ให้มากที่สุด บางส่วนที่ไม่พอก็จะซื้อมาเพิ่ม ซึ่งก็เป็นการหยิบความเก่าและความใหม่เข้ามาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว


สำหรับเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ที่นำมาจัดวางนั้น แบ่งเป็น ส่วนที่ออกแบบบิลต์อิน โดยให้ช่างไม้ในท้องถิ่นทำขึ้นมา ผสมผสานแบบลอยตัวที่เจ้าของเลือกซื้อมาจากบ้านถวาย
ภายใต้ความเรียบง่าย ที่ไม่ธรรมดาของบ้านสวนแห่งนี้ ได้ถูกคิดตกผลึกมาอย่างละเอียดในทุกมุม ทั้งเรื่องทิศทางการวางแนวอาคาร แสงแดดและที่ตั้ง ทิศทางลม และยังคิดครอบคลุมไปถึงเรื่องของการประหยัดพลังงานอีกด้วย


จากความต้องการของผู้เป็นเจ้าของที่อยากมีบ้านสวน ไว้อยู่ยามเกษียณ กับระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี 6 เดือน ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การปลูกบ้านในพื้นที่ติดทุ่งนาเช่นนี้ จะมีปัญหาเรื่องของยุงและแมลงอยู่บ้าง หรือช่วงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ก็จะมีการเผาตอซังอยู่ประมาณ 2-3 วัน แต่หากเป็นช่วงปกติ พื้นที่ตรงนี้อากาศค่อนข้างดีมาก ซึ่งเจ้าของก็มีความสุขที่จะอยู่อย่างเข้าใจในความเป็นไปของธรรมชาติ และบริบทที่เลือก
Owner : คุณพงศ์สยาม และคุณอุราลักษณ์ ชูติวัตร
Architectural & Interior Design : คุณสัญญา เทียนสว่าง
Garden Designer : คุณสัญญา เทียนสว่าง
Landscape designer : คุณรังสิต ณ น่าน
Photographer : คุณสัญญา เทียนสว่าง ,TICHA photography