บ้านร้อน.. ติดระแนงบังแดดทิศไหน แบบไหนดี?

0

ด้วยสภาพภูมิอากาศของเมืองไทยที่เป็นเมืองร้อน เชื่อว่าเจ้าของบ้านหลายๆท่านน่าจะประสบปัญหาเกี่ยวกับบ้านร้อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านร้อนนั่นคือความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางหน้าต่างของบ้าน วันนี้ “Design Of The Week” จะพาไปดูไอเดียการออกแบบระแนงบังแดดไม้เทียม เพื่อลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านกันครับ

ระแนงบังแดด นอกจากจะช่วยลดความร้อนของแสงแดดที่ผ่านเข้าสู่ตัวบ้านแล้ว ยังสามารถเป็นงานตกแต่ง ที่ทำให้บ้านดูสวยขึ้น แถมยังช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้อยู่อาศัยได้อีกด้วย แต่การที่จะทำระแนงบังแดด ให้สามารถลดความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรคำนึงถึงทิศทางของแสงแดดเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบติดตั้งระแนงด้วย

การออกแบบระแนงบังแดด ควรออกแบบให้สอดคล้องกับการโคจรของดวงอาทิตย์ ซึ่งขึ้นทางทิศตะวันออกในช่วงเช้า และส่วนใหญ่จะอ้อมทางทิศใต้ไปทางทิศตะวันตกในช่วงบ่าย ทั้งนี้ ทิศเหนือเป็นทิศที่โดนแดดน้อยที่สุดตลอดปี ส่วนทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกจะเผชิญกับแสงแดดแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา


ทิศตะวันออก – EAST


แดดจากทิศตะวันออก จะอุดมไปด้วยวิตามิน D โดยเฉพาะช่วงเช้าก่อน 9.00 น. หลังจากนั้นควรป้องกัน แผงบังแดดจึงเหมาะกับการป้องกันแดดที่เดินทางในมุมสูง

Cr. SCG

“HOW TO”

ทำระแนงติดไว้ที่ด้านบนของประตู/หน้าต่าง โดยเตรียมโครงเหล็กรูปพรรณ ขนาด 1.5×3 นิ้ว ระยะห่างระหว่างโครงไม่ควรเกิน 50 ซม. พร้อมทำค้ำยัน จากนั้นยึดเข้ากับผนังโดยใช้เพลทเหล็กเป็นตัวเชื่อม แล้วจึงติดตั้งไม้เทียมเข้ากับโครงเหล็กด้วยตะปูเกลียวปลายสว่าน แบบมีปีก ยาว 32 มม.


ทิศใต้ – SOUTH


แดดจากทิศใต้ จะเป็นแดดในช่วงสายถึงบ่าย ซึ่งจะส่องเฉียงทแยงมุม ลักษณะแผงกันแดดจึงควรยื่•นออกจากผนังในแนวตั้ง

Cr. SHERA

“HOW TO”

ทำระแนงไม้เทียมเป็นแนวตั้ง ยื่นออกมาจากตัวบ้าน โดยเตรียมโครงเหล็กรูปพรรณ ขนาด 1.5×3 นิ้ว ให้เหล็กแนวนอนมีระยะห่างประมาณ 40 ซม. จากนั้นยึดเข้ากับผนังโดยใช้เพลทเหล็กเป็นตัวเชื่อม 4 จุด แล้วจึงติดตั้งไม้เทียมเข้ากับโครงเหล็กในแนวตั้ง หันด้านสันไม้ออก ยึดเข้ากับโครงเหล็กด้วยอุปกรณ์เหล็กฉาก


ทิศตะวันตก – West


แดดทิศตะวันตก มีการสะสมความร้อนตลอดวัน จำเป็นต้องติดตั้งระแนงกันแดดเพื่•อป้องกันความร้อนสะสมที่เข้าสู่ผนังและช่องหน้าต่างในลักษณะแนวนอน ซึ่งจะเป็นแนวนอนปกติ หรือ ซ้อนเกล็ดเอียง 45 องศา ก็ได้

Cr. SCG

“HOW TO”

  • ทำระแนงไม้แนวนอนแนบไปกับโครงเหล็ก
    โดยการเตรียมโครงเหล็กรูปพรรณ ขนาด 1.5×3 นิ้ว ระยะห่างระหว่างโครงแนวตั้งไม่ควรเกิน 50 ซม. จากนั้นยึดเข้ากับผนังโดยใช้เพลทเหล็กเป็นตัวเชื่อม 4 จุด แล้วจึงติดตั้งไม้เทียมเข้ากับโครงเหล็กด้วยตะปูเกลียว ปลายสว่าน แบบมีปีก ยาว 32 มม.
  • ทำระแนงไม้แบบซ้อนเกล็ด เอียง45องศา
    โดยเตรียมโครงเหล็กรูปพรรณ ขนาด 1.5×3 นิ้ว ให้เหล็กแนวตั้งมีระยะห่างไม่เกิน 50 ซม. จากนั้นยึดเหล็กฉากเข้ากับโครงเหล็กให้เอียง 45 องศา และมีระยะห่างประมาณ 10 ซม. แล้วจึงติดตั้งไม้เทียมเข้ากับเหล็กฉาก ด้วยตะปูเกลียวปลายสว่าน

MATERIAL GUIDE

สินค้าที่แนะนำสำหรับทำระแนงบังแดด ควรเป็นวัสดุไม้เทียมที่สามารถอยู่ภายนอก โดนแดดโดนฝนได้ เช่น ไม้สังเคราะห์ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement) ซึ่งถือเป็นวัสดุทดแทนไม้จริง ที่นอกจาหน้าตาเหมือนไม้จริงแล้ว ยังหาซื้อได้ง่าย ไม่หด/งอ เหมือนไม้จริง ที่สำคัญคือปลวกไม่กิน ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายแบรนด์ เช่น ไม้เฌอร่า ไม้สมาร์ทวูด SCG เป็นต้น

จากแบบข้างต้นนี้ เป็นการออกแบบแผงระแนง เพื่อบังแดดสำหรับหน้าต่างขนาด กว้าง 2.4 x สูง 1.1 เมตร ซึ่งเป็นขนาดหน้าต่างมาตรฐาน เมื่อคำนวณแล้วจะใช้จำนวนวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ สมาร์ทวูด SCG ดังนี้

หมายเหตุ – เป็นเพียงการประมาณราคาเบื้องต้น ยังไม่รวมโครงเหล็ก และค่าแรง

TIP

  • แผงระแนงบังแดด ไม่ควรยื่นจากผนังในระยะที่ต่ำกว่า 30 ซม. เพราะนอกจากจะไม่ช่วยเรื่องของการกันความร้อน แล้ว ยังอาจทำให้การซ่อมแซมในอนาคตทำได้ลำบากขึ้นด้วย
  • เมื่อติดตั้งไม้เทียมด้วยตะปูเกลียวเสร็จแล้ว ให้แต้มเก็บหัวตะปูด้วยกาวยาแนวอะคริลิคและทาสีย้อมไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม
  • ทิศเหนือ เป็นทิศที่แดดไม่แรง จึงไม่จำเป็นต้องติดระแนงหรือแผงกันแดด
  • การติดตั้งแผงบังแดดเข้ากับผนังบ้าน ควรปรึกษาผู้เชียวชาญเพื่อดูตำแหน่งในการยึดเจาะ เพราะแผงระแนงที่มีน้ำหนักมาก อาจส่งผลต่อการรับน้ำหนักของผนังบ้านหรือโครงสร้างได้